ผ้าสมปักปูม เป็นผ้าโบราณชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันในราชสำนักสยาม นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นผ้าที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานให้เป็นเครื่องยศแก่ขุนนาง หรือผู้ที่รับราชการมีบรรดาศักดิ์ต่างๆ ใช้นุ่งตามยศตาม ตำแหน่ง ใช้นุ่งเฉพาะเวลาเข้าเฝ้าฯ หรือนุ่งในพระราชพิธีที่สำคัญๆ ต่างๆ และใช้นุ่งเฉพาะในเขตพระราชวังเท่านั้น ซึ่งถือเป็นผ้าทอที่ทอด้วยความละเอียด ประณีต และมีคุณภาพที่ดี
ผ้าสมปักปูม ในอดีตเป็นผืนผ้าหน้าแคบ ที่ต้องนำผ้าสองผืนมาเย็บ หรือ “เพลาะ” ต่อกัน เมื่อ “เพลาะ” แล้วผืนผ้าจะมีความกว้าง และมีความยาวกว่าผ้านุ่งธรรมดา จึงใช้เป็นผ้านุ่งโจงได้ ส่วนกระบวนการทอและลวดลายบนผืนผ้า เป็นเครื่องบ่งบอกฐานันดรของผู้ส่วมใส่ ซึ่งมีด้วยกันหลายรูปแบบ ไว่ใช้สวมใส่ตามวาระสำคัญ ๆ เช่น สมปักเชิงปูม สมปักล่องจวน สมปักปูมดอกเล็ก สมปักปูมดอกกลาง สมปักปูมดอกใหญ่ สมปักปูมท้องนาค เป็นผ้าแต่ละรูปแบบมีความเหมาะสมในการสวมใส่ต่างวาระองค์ประกอบบนผืนผ้ามีการแบ่งพื้นที่บนผืนผ้าที่แตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการบอกยศตามชั้นของขุนนาง คือ ขุนหลวง คุณพระ พระยา แต่ละชั้นจะมีจำนวนศักดินาที่แตกต่างกันออกไป ให้ดูที่ลายบริเวณ ส่วนของท้องผ้าว่าเป็นลวดลายอะไร ดอกขนาดไหน เล็ก กลาง ใหญ่ สีของท้องผ้าอาจเกี่ยวข้องกับสังกัดกรมกองในหน้าที่การงาน ส่วนพระภูษาทรงของเจ้านายอาจแตกต่างจากขุนนางตรงวัสดุที่นำมาผลิตและตกแต่งจะเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่ามากกว่าเส้นไหมธรรมดา โดยอาจใช้ดิ้นเงินหรือดิ้นทอง เพื่อเพิ่มมูลค่าและความสวยงามให้กับผืนผ้าที่ทอ
- สมปักปูมท้องนาค เป็นผ้าปูมที่ถือว่ามีศักดินาและบรรดาศักดิ์สูงสุด เนื่องจากมีลวดลายสวยงามขนาดใหญ่ และใช้กรรมวิธีการทอที่ซับซ้อน มีแค่ขุนนางในราชสำนัก 6 ตำแหน่งที่สามารถนุ่งผ้าสมปักปูมท้องนาคได้คือ ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม สมุหนายก จตุสดมภ์ทั้ง 4 คือกรมเวียง กรมวัง กรมคลังและกรมนา นอกจากนี้ยังพระราชทานให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีบรรดาศักดิ์รองลงมาคือชั้นเจ้าพระยาและพระยาด้วย
- สมปักปูมดอกใหญ่ ดอกกลาง และดอกเล็ก ถือเป็นผ้าที่มีศักดิ์สูงรองลงมา ลักษณะลวดลายที่พบในท้องผ้าใกล้เคียงกับสมปักปูมท้องนาค ใช้พระราชทานให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีบรรดาศักดิ์พระยาและพระ
- สมปักเชิงปูมหรือสมปักเชิง มีโครงสร้างเช่นเดียวกับผ้าสมปักปูมชนิดอื่น ๆ ต่างกันที่สมปักเชิงปูมจะมีท้องผ้าเป็นสีพื้นเรียบ ๆ ไม่นิยมใส่ลวดลายมัดหมี่ในส่วนท้องผ้า บางครั้งเรียกผ้าแบบนี้ว่า “ผ้าสมปักปูมท้องเลี่ยน” หรือเรียกตามสีของท้องผ้า เช่น ผ้าสมปักปูมท้องน้ำเงิน ผ้าสมปักปูมท้องแดง เป็นต้น ใช้พระราชทานแก่เสนาบดี ข้าราชการที่มียศบรรดาศักดิ์ระดับพระลงมาจนถึงหลวงและขุน
- สมปักปูมล่องจวน สมปักปูมริ้วใหญ่และสมปักปูมริ้ว มีโครงสร้างผ้าต่างจากสมปักปูมประเภทอื่น โดยทอด้วยเทคนิคมัดหมี่เป็นแถบลายริ้วขวางเป็นท้องผ้า ขนาบด้วยลายเชิงทั้งสองข้าง ใช้พระราชทานแก่ข้าราชการที่มียศบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นหลวงลงมาจนถึงขุน หมื่นและทนายหรือนาย เป็นยศขั้นต่ำสุด
ผ้าสมปักปูม ท้องผ้าลายนาค
ขอบคุณภาพจากหนังสือราชภูษิตาภรณ์สยาม
ผ้าสมปักปูม เป็นผ้าทอมือที่มีลวดลายวิจิตร ประณีต เกิดจากเทคนิคการมัดหมี่ให้เกิดเป็นผ้าทอที่มีกรวยเชิง 2 ชั้น หรือ 3 ชั้น หรือ ในบางผืนจะทอให้มีกรวยเชิงพิเศษ โดยมีขอบสังเวียนบน-ล่าง และลวดลายบริเวณท้องผ้าตามแบบโบราณที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ทอผ้าที่ยากและต้องใช้ทักษะเชิงช่างชั้นสูง ผ้าสมปักปูมแต่ละผืนจึงต้องใช้เวลาในการทอนานหลายเดือนจึงจะออกมาเป็นผืนผ้าที่มีความประณีต งดงาม ถือเป็นผ้าที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน
องค์ประกอบของผ้าสมปักปูมแบบโบราณ มีลักษณะใหญ่ๆ กล่าวคือผ้าแต่ละผืนจะประกอบด้วยส่วนของท้องผ้าในตอนกลางซึ่งเป็นส่วนที่มีลวดลายต่างๆ รอบท้องผ้าเป็นช่อแทงท้อง ส่วนของสังเวียนคือส่วนที่อยู่รอบช่อแทงท้องและส่วนของชายผ้าเป็นส่วนที่อยู่นอกส่วนสังเวียนอีกทีหนึ่งใช้บรรจุชุดลายกรวยเชิง
ขอบคุณภาพจากหนังสือสมปักปูมภูมิผ้าเขมรไทยจากราชสํานักสู่สามัญชน
โครงสร้างของผ้าสมปักปูม
ขอบคุณภาพจากหนังสือสมปักปูมภูมิผ้าเขมรไทยจากราชสํานักสู่สามัญชน
ผ้าสมปักปูม มีสีสันที่ใช้คือสีหลัก สีแดง (ที่ได้จากครั่ง) สีติดทนนาน สีไม่ตก ผ้าไม่หดตัว นิยมย้อมสีโทนหม่นไม่ฉูดฉาด ผ้าทุกผืนจึงมีความเหมาะสม และใช้ได้กับทุกพิธีการสำคัญ เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของผ้าสมปักปูมคือลักษณะการทอบริเวณชายผ้าหรือริมผ้าจะแตกต่างจากการทอผ้าชนิดอื่นมีการดึงเส้นไหมที่อยู่ชายผ้าตลบย้อนกลับเข้ามาในผืนผ้าเป็นการเก็บชายผ้า ทำให้ชายผ้าไม่ขาดและชายผ้าหนาขึ้น ดูแลรักษาง่าย
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)
สวมเสื้อคอปิดผ้ายก นุ่งโจงกระเบนผ้าปูม
ภาพ: สำนักหอจดหมายเหตุเเห่งชาติ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดปทุมวนาราม
แสดงให้เห็นการแต่งกายของขุนนางนุ่งโจงกระเบนผ้าปูม
ภาพจากหนังสือสมปักปูมภูมิผ้าเขมรไทยจากราชสํานักสู่สามัญชน
เอกลักษณ์การทอผ้าสมปักปูมนิยมทอแบบ 3 ตะกอโดยจะทอเป็นจุดประสลับกับเส้นตรง โดยใช้เส้นไหมคู่ 2 สีทอสลับกันให้เกิดเป็นลวดลายตลอดทั้งผืนผ้า ให้มีลักษณะเป็นลายริ้วสลับกับลายมัดหมี่ ที่มีความกว้างประมาณครึ่งนิ้วสลับกันไป ผ้าสมปักปูมถือเป็นผ้าทอมือที่มีคุณภาพดีมากเพราะการทอผ้าชนิดนี้ต้องใช้เส้นใยไหมที่มีขนาดเล็ก เรียบ ละเอียดในการทอ จึงทำให้ได้ผ้าที่มีเนื้อแน่น เงางามและบางเบา สวมใส่สบาย
วิธีการทอผ้าสมปักปูม
ขอบคุณภาพจากหนังสือสมปักปูมภูมิผ้าเขมรไทยจากราชสํานักสู่สามัญชน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) โปรดเกล้าฯให้มีการประกาศการแต่งกายใหม่ โดยให้ยกเลิกการนุ่งสมปักยศตามธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิม และโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางทั้งหลายนุ่งผ้าม่วงซึ่งสั่งมาจากประเทศจีนแทน และสวมเสื้อต่าง ๆ ตามโอกาสและเวลาเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งหรือในการพระราชพิธี อย่างไรก็ตามยังคงมีข้าราชการบางกลุ่มที่นุ่งผ้าสมปักแบบเดิมอยู่
ในปัจจุบันนี้หากกล่าวถึง “ผ้าปูม” หรือ“ผ้าสมปักปูม” คงน้อยคนนักที่จะรู้จัก หรือทราบว่าเป็นคือผ้าประเภทใด เนื่องจากชื่อเหล่านี้ได้หายไปจากความรู้จักคุ้นชินของสังคม และวัฒนธรรมไทยในปัจจุบันไปเกือบหมดแล้ว ในวันนี้จึงแทบจะไม่มีคนรุ่นหลังรู้จัก “ผ้าสมปักปูม” ภูมิผ้าโบราณที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และกลับกลายเป็นผ้าที่หาได้ยากนักในปัจจุบัน อีกทั้งยังเหลือผู้สืบทอดการทำงานทอผ้าประเภทนี้อยู่เพียงไม่กี่รายในเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น จนเริ่มมีแนวโน้มที่ใกล้จะสูญหายไปในไม่ช้า
*เกร็ดความรู้ สมปักเป็นภาษาเขมร มาจากคำว่าสมพต ซึ่งแปลว่าผ้าที่ใช้เป็นทั้งผ้านุ่งหญิงและผ้านุ่งชาย