
ผ้าลายอย่าง Pha Lai Yang (Siamese chintz) เป็นผ้านุ่งในราชสำนักสยาม มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ซึ่งผ้าจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว บ่งบอกถึงฐานะของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี ในอดีตเป็นเครื่องนุ่งห่มหรือผ้านุ่งที่ใช้สำหรับเจ้านายหรือชนชั้นสูงเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้


ผ้าพิมพ์ลายที่ใช้กันอยู่ในราชอาณาจักรสยามในสมัยอยุธยามีอยู่หลายชนิด มีทั้งนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ที่นิยมมากนั้นใช้เป็นผ้านุ่ง นอกจากนี้ยังนิยมผ้าพิมพ์ลายมาใช้ตกแต่งอาคารสถานที่ นำมาเป็นม่าน หรือห่อของมีค่าก็มี สำหรับผู้ศรัทธาในพระศาสนาจะนำมาห่อคัมภีร์ ใบลานถวายเป็นพุทธบูชา เป็นการทำบุญต่ออายุพระศาสนา รวมทั้งใช้คลุมหนังสัตว์พาหนะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมใช้ผ้าพิมพ์ลายในชีวิตประจำวันของคนสยาม ซึ่งชนิดของผ้าแบ่งตามสถานภาพทางสังคมและฐานะความเป็นอยู่ของผู้ใช้ สำหรับผ้าพิมพ์ลายที่มีความงดงามอย่างมาก มีลักษณะเฉพาะตัว และใช้ฝีมือในการออกแบบลวดลายได้อย่างกลมกลืน โดดเด่น ผสมผสานกับฝีมือการผลิตด้วยภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของช่างไทยที่เป็นช่างหลวงให้ราชสำนักส่งแบบและลายออกไปสั่งทำจากอินเดีย เพราะการทำผ้าพิมพ์ลายที่มีคุณภาพดีต้องทำด้วยผ้าลินินเนื้อดี ซึ่งอินเดียมีความชำนาญในการทำผ้าพิมพ์ลายเป็นอย่างยิ่ง


“ผ้าลายอย่าง” ตามที่กล่าวมา เป็นผ้าลายพิเศษใช้ในกิจกรรมของราชสำนักโดยเฉพาะ สั่งทำและนำเข้ามาจากอินเดีย ในระยะแรกผ้าพิมพ์เป็นผ้าที่มีลวดลายแบบอินเดีย ที่คนสยามเห็นว่าเป็นผ้าแปลกใหม่ สีไม่ตก มีความงามด้วยลายประดับคล้ายลายผ้าปักและผ้ายก จึงซื้อมานุ่งห่ม แต่ยังไม่พอใจในสุนทรียะของการให้สีของอินเดียและการออกแบบลวดลายที่ไม่เหมือนลายไทยแท้ ๆ จึงคิดสั่งทำ ต่อมาทางราชสำนักต้องการที่จะให้มีลวดลายที่งดงามยิ่งขึ้น จึงสั่งให้ช่างหลวงออกแบบเขียนลายไทย พร้อมทั้งกำหนดสีส่งไปเป็นต้นแบบให้ผลิตผ้าพิมพ์เพื่อนำมาใช้ในราชสำนัก จึงเรียกผ้าพิมพ์ลายชนิดนี้ว่า “ผ้าลายอย่าง”


















ถ้าอยากรู้เรื่องราวของผ้าลายอย่างเพิ่มเติม อ่านต่อได้ที่ >> http://thaistylestudio1984.com/b/ผ้าลายอย่าง-ผ้าลายอย่าง-แต่งกายอย่างอยุธยา/
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”