เครื่องเขิน คือหนึ่งในงานหัตถกรรมที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียอาคเนย์ ในอดีตเครื่องเขินมีสถานภาพเป็นทั้งของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในพิธีกรรม ตลอดจนรูปเคารพและงานศิลปกรรม เครื่องเขินมีโครงสร้างจากไม้และที่นิยมมากที่สุดคือ โครงสร้างจากไม้ไผ่ ซึ่งช่วยให้ของใช้นั้นมีน้ำหนักเบา หลักการของเครื่องเขินคือนำเครื่องจักสานมาเคลือบด้วยยางไม้ชนิดหนึ่งที่มีสีดำ ซึ่งเรียกกันว่า ยางรัก ภาชนะใช้สอยเมื่อเคลือบยางรักและตกแต่งผิวให้สวยงามด้วยวิธีการต่างๆ เสร็จแล้วจึงเรียกว่า เครื่องเขิน
รูปร่างรูปทรงของเครื่องเขิน มักจะเลียนแบบจากธรรมชาติ โดยเอื้อประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งรูปทรงเหล่านี้มักจะเลียนแบบจากพืชพรรณไม้ รูปทรงจากสัตว์ รูปทรงกระบอก ทรงกลม ทรงเรขาคณิต รูปรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม รวมถึงรูปทรงที่ช่างคิดสร้างสรรค์ ทั้งลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายบัว ลานรักร้อย ลายประจำยาม ลายก้านขด ลายธรรมชาติ ตลอดจนภาพนิทานชาดก และลายสิบสองราศี
ส่วนเครื่องเขิน ในประเทศไทย พบมากทางล้านนา หรือทางภาคเหนือของไทย ซึ่งเชื่อว่าเครื่องเขินไม่ได้เริ่มมีในสังคมล้านนาช่วงฟื้นฟูเชียงใหม่ “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่ทำการกวาดตอนไทเขินจากลุ่มน้ำแม่ขึน เมืองเชียงตุง แต่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในล้านนาก่อนหน้าที่พม่าจะเข้ามายึดล้านนา ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพม่ายึดครองเมืองเชียงใหม่ได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่และช่างฝีมือไปไว้ที่เมืองพม่าหลายครั้ง โดยช่างฝีมือหรือชาวเชียงใหม่ที่ถูกกวาดต้อนได้ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วยรัก เรียกว่า “โยนเถ่” แปลว่าเครื่องยวน หรือเครื่องที่ประดิษฐ์โดยชาวยวน หรือล้านนา ปัจจุบันที่พุกามยังมีการทำโยนเถ่ ที่มีการตกแต่งลายขูดขีดแล้วถมลายเส้นด้วยสีต่าง ๆ อยู่
เหตุที่เรียกภาชนะที่ทำจากไม้ หรือเครื่องจักสาน แล้วทำการลงรักว่า เครื่องเขิน เพราะได้รับอิทธิพลทั้งรูปทรง ลวดลาย และกรรมวิธีการผลิต หน้าที่การใช้งาน ตลอดจนผู้ผลิตที่สืบทอดความเป็นชาวไทเขิน เป็นสำคัญ
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”