ในกฎมณเฑียรบาลที่ว่าด้วยเครื่องแต่งพระองค์ท่อนล่าง มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ควรแก่การศึกษา ประโยคนั้นความว่า “ขนองกั้นเกนสนับเพลา”
ภาษาในกฎมณเฑียรบาลนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตรัสว่าเป็นภาษาไทยข้างเหนือ คือภาษาเงี้ยวเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่แปลกอันใดในการที่จะอ่านไม่เข้าใจในปัจจุบัน เพราะถึงเป็นภาษาไทยเก่าก็ยังยากแล้ว ด้วยเหตุที่ท่านเขียนสั้นเขียนห้วน ท่านรู้ของท่านเอง ใครอ่านไม่รู้ก็เป็นฉลาดน้อย
นอกจากผ้านุ่งเรายังมีกางเกงอีกอย่างหนึ่งที่ใช้นุ่ง กางเกงนี้เป็นของแน่ว่าแต่เดิมนั้นขาสั้นมาก อย่างที่เรียกกันว่า “กางเกงขาก๊วย” ในสมัยหนึ่ง ถัดลงมาเป็นกางเกงเพียงเข่า ดังกางเกงม่อฮ่อม ถัดลงมาเป็นกางเกงขายางถึงแข้ง บางครั้งเกือบถึงตาตุ่มก็มี ราชาศัพท์เรียกกางเกงว่า “สนับเพลา” คำว่า “สนับ” ปทานุกรมแปลว่าเสื้อ, เครื่องสวม เครื่องรอง (สวมนิ้วกันเข็มแทงมือเวลาเย็บผ้า) มีใช้หลายคำ สนับแข้ง สนับนิ้ว สนับเพลา สนับมือ
คำว่า “สนับเพลา” นั้นชื่อก็บอกแล้วว่า กางเกงสั้น เพราะสนับเพียงเพลาคือ หน้าขา
คำว่า “ขนอง” แปลว่าหลัง
คำว่า “กั้ง” แปลว่า กั้น หรือเป็นชื่อชาวกระเหรี่ยงโบราณ
คำว่า “เกน” แปลว่า นาง ก็ได้ แปลว่า ร้องตะโกน ก็ได้ แปลว่าหลักบังคับหรือกำหนด ก็ได้
เมื่อรวมกันแล้วก็ไม่มีความหมาย ต้องใช้วิธีสันนิษฐานคือเดา
ทางด้านเจ้าพระคุณพระยาอนุมาน ฯ เขียนไว้ว่า
ส่วน “กางเกง” คำนี้แปลก ไม่เหมือนกันสักแห่ง ไทยใหญ่เรียกกางเกงว่า ก๋น จะเรียกสร้อยคำว่า ก๋าน เป็นคำคู่ก็ได้ เป็น ก๋นก๋าน กางเกงขากว้างอย่างกางเกงจีน เรียกว่า ป่องปี่ ถ้าขาแคบอย่างฝรั่งเรียกว่า ก๋น พายัพ กางเกงจีนเรียกว่า เตี่ยว เช่น ผ้าเตี่ยว – กางเกงผ้าเตียวแฮ – กางเกงแพร ถ้าเป็นกางเกงแบบฝรั่งเรียกว่า กงเก็ง อย่างชนิดสั้นเรียกว่ากางเกงขาก้อม อีสานเรียกว่า ส่ง คำเดียวกับ ส้ง ในคำว่า “ลาวส้ง” คือลาวนุ่งกางเกง กางเกงขาสั้นเรียกว่า “ส่งขากบ” ส่วนเตี่ยว อีสานหมายถึง ผ้าขัดหนอกอย่างที่พวกข่าใช้ ทางเซียงตุงพวกเขินเรียก ขากิ๊น ไทยโท้ ไทยนุง และผู้ไทยขาว เรียกกางเกงว่า “ขวา” ซึ่งเพี้ยนเป็น “โข” หรือ “ขัว” ในอีสานล่าง และเขมรก็ดูเหมือนเรียกว่า “โค” เหมือนกัน ไทยน้อยเรียกกางกางว่า “กุน” ซึ่งน่าจะเป็นคำเดียวกับ “ก๋น” ในไทยใหญ่ จีนเรียกกางเกงว่า “โข่” กางเกงขาสั้นว่า “โข่ก๊วย” แต่อ่านว่า “โคก๊วย” แปลว่ากางเกงครึ่งท่อน ปักษ์ใต้เรียกกางเกงว่า “โกงเกง” ซึ่งคงเป็นคำเดียวกัน คงมีแต่ไทยกลางและปักษ์ใต้เท่านั้น ที่เรียกว่า กางเกง
กางเกงเป็นของเกิดใหม่ เพราะคำเรียกในภาษาไทยยังแตกต่างกันออกไป คำฤษดีของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ บอกความหมายของ “สนับเพลา” ว่า “เสื้อขา” โดยเป็นคำที่ใช้กันอยู่แต่เดิม เสื้อตอนบนก็คงเป็น “เสื้อแขน” และคงจะเป็นเพราะมาเรียกเสื้อขาเป็นกางเกงและสนับเพลา เสื้อจึงไปเกาะอยู่กับเสื้อแขนพวกเดียว
เรื่องเครื่องแต่งกายคิดด้วยเกล้าฯว่า ถ้าจะพูดถึงประเทศร้อน เดิมจะนุ่งผ้าแคบ ๆ อย่างนุ่งผ้าขาวม้า แล้วผ้าแคบนี้จึงยึดมาเป็นสาวโสร่งเป็นถุงขึ้น เกิดรุ่มร่ามจึงรวบชายกลางไปไว้ข้างหลังเป็นครั้งเป็นคราวก่อน แล้วภายหลังก็รวบ เลยเกิดเป็นนุ่งผ้าโจงกระเบน ส่วนกางเกงก็จะมาจากรวบชายกลางนั่นเอง เกิดเป็นเสื้อขาขึ้น
รูปเทวดาเก่า ๆ ที่พบในภาคเหนือบ้าง ภาคกลางบ้าง แต่งองค์แปลก ๆ ถ้าดูเผิน ๆ เหมือนนุ่งผ้าขาวม้าลอยชายทับกางเกงขายาว ไม่ว่าจะเป็นรูปเขียน รูปสลัก ดูแล้วก็ไม่ได้น่าสนใจอะไร จนพบความในลายพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จเหนือคราวหนึ่งว่า พระองค์ท่านเพิ่งทรงสังเกตได้ว่า ในโบราณนั้นนุ่งกางเกงสองตัวซ้อนกัน คงนุ่งกันมานานแล้ว จึงเป็นที่สนใจเมื่อได้พบรูปดังกล่าวก็พิจารณาเป็นพิเศษ รูปแกะสลักไม่ช่วยอะไรได้มาก แต่รูปเขียนสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ช่วยได้ เพราะแยกขาให้เห็นขากางเกงก็มี ผ้าที่เห็นเป็นลอยชายนั้นคือผ้าคาดพุงอีกผืนหนึ่งต่างหาก
ดังนั้นจึงต้องลากความในกฎมณเฑียรบาลเข้าหารูปภาพว่า “ขนองกั้งเกนสนับเพลา” คือ “สนองหรือฉลองกั้งเกนสนับเพลา” จะได้ง่ายต่อการเดาว่านุ่งกางเกงสนับเพลาและเดาต่อไปว่า กางเกงคือตัวที่นุ่งอยู่ชั้นในยาวมาถึงแข้ง ส่วนสนับเพลาคือตัวที่นุ่งอยู่ชั้นนอกสั้นเพียงเข่า แล้วต่อมาภายหลัง ความหมายย้ายที่สนับเพลา เรียกตัวขายาวที่เหลืออยู่ตัวเดียว
การนุ่งกางเกงซ้อน 2 ตัว นุ่งกันทั่วไปทุกชั้นบรรดาศักดิ์ แต่ไม่ได้นุ่งแบบนี้แบบเดียว นุ่งโจงก็มี นุ่งโจงทับกางเกงก็มี นุ่งแต่กางเกงขาสั้นหรือขายาวก็มี นุ่งผ้าหน้าแคบเท่าผ้าขาวม้าลอยชายก็มี ลอยชายกับกางเกงก็มี แต่พวกชั้นดีที่อยู่งานเครื่องสูงจะนุ่งโจงทับสนับเพลา นุ่งกางเกงสั้นทับสนับเพลา
กางแต่งกายเข้าวังหรือสถานที่หวงห้ามทางราชการนั้น ต้องแต่งด้วยความเรียบร้อยถูกต้องตามกาลเทศะและขนบธรรมเนียมประเพณี กฎคือ ห้ามนุ่งผ้าสีแดง สีชมพู ผ้าเขียนลายที่มีเชิง ผ้าปัก วิธีนุ่ง ห้ามนุ่งเหน็บหน้า หิ้วชาย ลอยชาย ก็แปลว่าถ้านุ่งผ้าเข้าวังหรือในงาน จะต้องนุ่งโจง ส่วนผ้าห่มนั้น ห้ามห่มผ้านอกเสื้อ ห่มบ่าเดียว (ที่เรียกกันว่าผ้าขาวม้าพาดไหล่) ดอกไม้ทัดเข้าไปไม่ได้ ข้อห้ามต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มีโทษถึงฉีกเสื้อผ้า ถ้ามัดดอกไม้ให้เอาดอกไม้คลุกฝุ่นโพกหัว ตามโทษหนักไปถึงเบา
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”