คนสมัยก่อน เวลาจะดูเงาของตนก็ดูในน้ำ แต่น้ำนั้นต้องเป็นน้ำนิ่ง ๆ เช่น น้ำในบ่อ ถ้าบ่ออยู่ไกลไม่สะดวกก็ตักน้ำใส่กะโหลก (กะโหลก คือ กะลามะพร้าวอย่างใหญ่เฉาะสูงไม่ผ่าครึ่ง) แล้วชะโงกดูเงา ต่อมาเมื่อเจริญขึ้นรู้จักใช้โลหะ มีทองแดงบ้าง สัมฤทธิ์บ้าง ทองเหลืองบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง ตามฐานะ มาขัดเรียบชักเงา จนใส ส่องดูเงาได้ แต่การส่องกับแผ่นโลหะกลม ๆ เป็นแว่นหรือเป็นเหลี่ยมก็ตาม ไม่ถนัด จึงต่อคันสำหรับจับกับแว่นนั้น ซึ่งต่อมากลายเป็นเครื่องอุปโภคที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งของมนุษย์ แว่นเงาที่มีคันเรียกว่า “คันฉ่อง”
คันฉ่อง ซึ่งอธิบายว่า “คัน” คือด้ามหรืออะไรที่ยาว ๆ มือจับได้ เช่น คันธนู คันศร คันเบ็ด ส่วน “ฉ่อง” กับ “ส่อง” เป็นคำหมายความอย่างเดียวกัน ฉ กับ ส ใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น ฉลาก กับ สลาก
เชื่อกันว่าอียิปต์, เปอร์เซีย ต้นอารยธรรมของโลก รู้จักใช้คันฉ่องกันมานานแล้ว ทำกันวิจิตรงดงามมากแพร่หลายมาในอินเดีย ขึ้นไปเนปาล ออกจากเนปาลเข้าธิเบต สู่จีน สู่ไทย สู่พม่า ในพิพิธภัณฑ์เนปาลตัว “ส่อง” ทำด้วยทองม้าฬ่อ “คัน” ทำด้วยงาช้างแกะสลักเป็นนารายณ์ทรงครุฑและเป็นกฤษณะ ในเมืองจีนใช้กันแพร่หลาย แต่มีขนาดที่เล็กกว่า ทำด้วยสัมฤทธิ์ เป็นชิ้นเดียวกัน มีลายตามขอบ
ส่วนในประเทศไทยคันฉ่องเพิ่งมีเข้ามาในเมืองไทยมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อนหน้านั้นคงจะมีบ้างนิดหน่อย ส่วนในพิพิธภัณฑ์ที่อยุธยาก็มีคันฉ่อง ทำด้วยสัมฤทธิ์ในรูปแบบดั้งเดิมคือกลมด้านเหลี่ยมแบน ต่อมาได้ประดิษฐ์ประดอยจนได้รูปงามเป็น “แว่น” ซึ่งมาใช้เป็นที่ติดเทียนสำหรับเวียนเทียน จนเมื่อกระจกแท้มา กระจกยังได้เข้าไปแทนที่ทองสัมฤทธิ์ที่ตัว “ส่อง” เป็นแว่นแก้ว
กระจกแพร่หลายมากขึ้น บานใหญ่ขึ้น ยื่งใหญ่เท่าไรคนยิ่งชอบ เพราะส่องเห็นได้มากขึ้น พ้นวิสัยที่จะใส่คัน ต้องทำกรอบตั้งวางกับพื้น เรียกกันว่า กระจกตั้ง ราชาศัพท์เรียกว่า พระฉาย ส่วนที่ใส่คันส่องก็วางบนพาน ซึ่งคนรุ่นเก่าสามารถตัดผมตนเองด้วยกรรไกรคีมแบบโบราณโดยใช้กระจกตั้งและคันฉ่องช่วย
ปัจจุบันความหมายของ “คันฉ่อง” ย้ายมาอยู่ที่กระจกตั้งปิดทองล่องชาดชนิดนั่งรอบส่อง ส่วนตัว “คันฉ่อง” เก่าจริง ๆ นั้นหายไปเกือบหมด คงมีอยู่ตามพิพิธภัณฑ์บ้างเท่านั้น ที่จริงกระจกเงามีด้ามถือที่ใช้ส่องกันตามร้านเสริมสวยก็คือ “คันฉ่อง” แต่เมื่อความหมายย้ายไปไกลแล้ว ก็ไม่มีใครเรียกอีกต่อไป ถ้าไปเรียกกระจกตั้งว่า “กระจก” ก็เป็นผิด ต้องเรียก “คันฉ่อง” ทั้ง ๆ ที่ไม่มี “คัน” สำหรับจะจับจะถือแม้แต่น้อย
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”