รู้จัก ‘ซิ่นน้ำถ้วม/น้ำท่วม’ งามภูษาและน้ำตาของชาวดอยเต่า จ.เชียงใหม่
สัญลักษณ์บนผืนผ้ากับความรุ่งเรืองในอดีตริมสองฝั่งปิง
‘ซิ่นหนีน้ำท่วม’ หรือ ‘ซิ่นน้ำถ้วม’ ตามภาษาอักขระล้านนา เป็นซิ่นชาวไทยยวนของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่าจังหวัดเชียงใหม่ ที่มาของการขนานนามว่า ‘ซิ่นน้ำถ้วม’ เนื่องด้วยช่างทอได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพล ทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยจนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นจากบริเวณเดิม
การอพยพหนีน้ำท่วมที่มาของชื่อผ้าทอตีนจกลาย หนีน้ำถ้วม ผ้าทอตีนจกมีการทอมาตั้งแต่ชุมชนเดิมริมสองฝั่งปิง คุณยายแก้วลา พรมเทศ ผู้สืบทอดผ้าทอตีนจกผืนเก่ามรดกจากบรรพบุรุษเล่าว่า ‘ …สมัยก่อนแม่อุ้ยอาศัยอยู่บ้านแอ่นริมแม่น้ำปิง เห็นการทอผ้าตีนจกมาตั้งแต่เป็นเด็ก แม่ของแม่อุ้ยนั้นทอตีนจกเป็นสามารถทอได้มากเป็นกระสอบ จนนุ่งไม่หมดก็แจกให้ลูกหลานนุ่ง’ ผ้าทอตีนจกในสมัยอดีตเป็นของมีค่าเปรียบเทียบได้กับทองคำ ผู้ที่นิยมสวมใส่มักเป็นผู้ที่มีฐานะอดีตราคาผ้าทอตีนจกมีราคาตั้งแต่ 100-500 บาท หากเทียบกับค่าจ้างรายวันชาวบ้าน ได้รับวันละ 8 บาท ผ้าทอกับผู้ที่มีรายได้น้อยจึงไม่สามารถซื้อหามานุ่งได้ ถือว่าเป็นสิ่งของไม่จำเป็น ในปี 2506-2507 หลังจากการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลแล้วเสร็จ น้ำปิงที่ปิดกั้นได้เอ่อท่วมตั้งแต่อำเภอสามเงา จังหวัดตากเรื่อยขึ้นมาถึงพื้นที่ริมสองฝั่งปิงในเขตดอยเต่า ประกอบด้วยหมู่บ้าน 21 หมู่บ้าน มีพื้นที่ถึง 54 ตารางกิโลเมตร น้ำได้เอ่อท่วมพื้นที่ทำกินรวมถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของราษฎร์ ต้องอพยพหนีน้ำท่วมเข้ามาอยู่ในบริเวณที่ดินจัดสรรของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล ผ้าทอตีนจกในสมัยนั้นมีคุณค่าเปรียบเช่นทองคำ เป็นสิ่งผู้อพยพย้ายถิ่นนำติดตัวมา จึงเรียกขานว่าผ้าทอตีนจกลายหนีน้ำถ้วม มาจนถึงปัจจุบัน
เขื่อนภูมิพลปิดกั้นลำน้ำปิงที่ อ.สามเงา จ.ตาก และมีพื้นที่กักเก็บน้ำยาวไปถึง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 207 กิโลเมตร
(ภาพจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ)
ซิ่นน้ำถ้วมเป็นซิ่นตีนจกที่มีชื่อเสียงของ จ.เชียงใหม่ ด้วยลวดลายการทออันเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามไม่แพ้ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม หากจะกล่าวถึงบริเวณที่สร้างงานหัตถศิลป์มีชื่อดังกล่าวนี้ให้ชัดเจน ก็คือพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่าของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด ซึ่งอดีตเป็นชุมชนโบราณเจริญในหลาย ๆ ด้าน ซิ่นน้ำถ้วมมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ภูมิปัญญาสิ่งทอพื้นบ้านของชุมชนบ้านดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นผ้าทอที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเป็นลวดลายมรดกที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนาน ทั้งด้านสีโครงสร้างของผ้า และลวดลาย อย่างเช่น ผ้าทอตีนจกลายหนีน้ำถ้วม ลวดลายที่พบแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ลายหลัก เป็นลายขนาดใหญ่ มีหน้าที่ใช้เป็นส่วนที่จกอยู่ตรงกลางของลวดลาย มักเป็นลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มี 9 ลายดังต่อไปนี้ ลายโกมนกหงส์, ลายโกมนกไล่, ลายโกมนกเป็ด, โกมหัวกุด, ลายโกมกระแจ๋, ลายโกมขอเบ็ด, ลายเขี้ยวหมาหน้อย, ลายขอผักกูด, ลายดอกบัวคำ
ลายประกอบเป็นลายขนาดเล็ก มักถูกจัดตำแหน่งให้อยู่สองข้างของลายหลักข้างละเท่า ๆ กัน มีอยู่ 18 ลาย ดังต่อไปนี้ ลายก่ำปุ๊ง, ลายห้องนก, ลายเฮือสะเปาคำ, ลายสายฟ้าหล้วง, ลายเครือนกไล่, ลายกาบสัก, ลายกุดก่ำเบ้อ, ลายอี้เนี้ยซอนทราย, ลายจั๋นหลวง, ลายจั๋นกลีบ, ลายสร้อยนกดอกหมาก, ลายขันเกิ่ง, ลายขันเงี้ยง, ลายขันดอก, ลายน้ำต้น, ลายเขี้ยวหมาหลวง, ลายกาบหน่อ, ลายเกล็ดงูเหลือม, และยังมีวิธีเรียกลายย่อย ๆ ลงไปตามส่วนของลวดลาย เช่น ชนิดที่ 1 ลายโกม (โคม) ลายขัน ชนิดที่ 2 ลายเครือ, ลายกูด ชนิดที่ 3 ลายแบบผสม ลวดลายในผืนผ้า มักเรียกตามจินตนาการของช่างผู้ทอ เช่น ลวดลายจากธรรมชาติพฤกษาและลวดลายจากสัตว์
องค์ประกอบของผ้าทอตีนจกลายหนีน้ำถ้วม ส่วนที่ 2 คือ หางสะเปา ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือนิยมใช้เส้นฝ้ายสีเหลืองสลับดำมากกว่า ใช้เส้นฝ้ายสีดำสลับขาว เส้นหางสะเปาจะสั้นมักมีสีเดียวไม่นิยมสลับสีเหมือนแหล่งอื่น ช่วงสะเปาจะมีความกว้าง ส่วนตีนซิ่น เป็นส่วนที่อยู่ล่างสุดของผืน ผ้าทอตีนจกนิยมใช้ฝ้ายสีแดงทอทอลายขัดสลับธรรมดา ไม่นิยมที่จะใช้สีอื่นนอกจากสีแดง
ในอดีตมีการใช้ผ้าทอตีนจกลายหนีน้ำท่วมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ งานประเพณี งานบุญงานรื่นเริง และประเพณีที่เกี่ยวกับความตาย โดยสวมใส่ให้กับผู้ตายแล้วนำศพไปเผา ปัจจุบันยังมีการใช้ผ้าทอตีนจกในงานประเพณี งานบุญ และงานรื่นเริงอยู่ แต่การใส่ผ้าทอตีนจกให้ผู้ตายน้อยลง เพราะผ้าทอตีนจกเก่ามีราคาแพงเป็นสิ่งที่หายาก และมีคุณค่าเพื่อการสะสม
‘ซิ่นน้ำท่วม’ จัดเป็นหนึ่งในมรดกผ้าซิ่นแห่งดินแดนล้านนาที่หายาก ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นสืบทอดการทอผ้าซิ่นชนิดนี้ที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ และ อ.ลี้ ใน จ.ลำพูนด้วย
อ้างอิง : แก้วกุดั่น. (2562). ลายผ้าโบราณ…สืบทอดผ่าน “ครูภูมิปัญญา”. สกุลไทยออนไลน์, หนังสือ ซิ่นตีนจกแห่งลุ่มแม่น้ำปิง