ผ้าหนามขนุน เป็นผ้ามัดย้อมจากญี่ปุ่นและอินเดีย มีลายปมเหมือนหนามขนุน ใช้เป็นผ้าคาดเอวขุนนาง ทำโดยการนำผ้าแพรบาง ๆ ผ้าไหม หรือผ้าอื่น ๆ มามัดด้วยเชือกเส้นเล็ก ๆ กับวัสดุปลายแหลม บางแห่งจะนำไปอังไฟร้อน ๆ เพื่อให้เกิดปุ่มนูนขึ้น นอกจากจะมีการมัดแล้วยังย้อมทับด้วยสีเพิ่มไปอีก จึงทำให้เกิดเป็นหนามคล้ายหนามของผลขนุน จึงเรียกผ้าชนิดนี้ว่า “ผ้าหนามขนุน” นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่เกิดจากการเย็บและรูดการพับด้วยผ้าที่ย้อมด้วยเทคนิคชิโบรินั้นเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ประณีตและมักมีการใช้เทคนิคการปักเข้าร่วมด้วย
ความซับซ้อนของลวดลายนั้น นอกจากทำเป็นลายธรรมดา ตารางหนามขนุนแล้ว ยังมีลวดลายอื่น ๆ ที่แสดงถึงความสามารถของช่างมัด เช่น ลายใบไม้ ลายดอกไม้ ลายคลื่น ลายเกล็ดปลา ลายข้าวหลามตัด ฯลฯ
ผ้าหนามขนุนที่ได้จากญี่ปุ่น จะมีความละเอียดมากกว่าผ้าหนามขนุนที่ได้จากอินเดีย ซึ่งมีลักษณะลายที่ใหญ่กว่า และผ้าหนามขนุนเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ผูกขาดการค้าโดยราชสำนักสยาม เพื่อพระราชทานให้กับข้าราชบริพาร และขายให้กับคหบดี ที่มีกำลังทรัพย์ในการซื้อหามาสวมใส่ นอกจากใช้เป็นผ้าเกี้ยวแล้ว ยังใช้เป็นผ้าห่ม ผ้าคลุม เป็นต้น
ส่วนลักษณะผ้าเกี้ยว คือ การนำไปคาดเอว ในราชสำนักสยาม นิยมเกี้ยวทับโจงกระเบน ด้านนอกเสื้อ (ลายอย่างน้อยหรือลายอย่างใหญ่ หรือเสื้อชนิดอื่น ๆ) อาจทับด้วยเข็มขัด (ปั้นเหน่ง) อีกครั้งเพื่อความสวยงาม
ในสมัยโบราณผ้าหนามขนุน เป็นผ้าที่พระมหากษัตริย์, ราชสำนัก, ขุนนาง และพระภิกษุสามเณรใช้เป็นผ้าคาดเอว ได้รับความนิยมตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งกระแสพระราชนิยมการนุ่งห่มแบบตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่4-5 จึงทำให้ผ้าดังกล่าวถูกลดบทบาทและหายไปในที่สุด ผ้าหนามขนุนยังเป็นผ้าพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ให้แก่ขุนนางและเจ้าเมืองหัวเมืองต่าง ๆ อีกด้วย ปัจจุบันผ้าดังกล่าวหายากและมีราคาสูง
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”