“ผ้าจกโหล่งลี้” ผ้าทอโบราณลายจกของชุมชนโหล่งลี้ที่สืบเชื้อสายไทยวน สร้างลวดลายและสีสันที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวลำพูนภาคภูมิใจ “เป็นลายที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ปู่ย่าตายายสร้างสรรค์ลวดลายจากจินตนาการไม่มีแบบหรือแม่พิมพ์ การขึ้นลายใช้ทักษะและประสบการณ์เฉพาะของผู้ทอ”
ประวัติความเป็นมา “เมืองลี้” เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยหรือก่อนปี พ.ศ. 1800 อยู่ภายใต้การดูและของอาณาจักรล้านนา จวบจนถึงยุคที่พม่าปกครอง ทำให้ประวัติศาสตร์และความสำคัญของเมืองลี้ มีทั้งยุคที่รุ่งเรืองและรกร้าง สลับช่วงกันไป ขึ้นอยู่กับความใสใจและราโชบาย ของกษัตริย์ล้านนาแต่ละพระองค์ ปรากฎหลักฐานชื่อเมืองลี้อีกครั้งหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในเส้นทางเดินทัพของสยาม ที่เดินทัพขึ้นไปปราบกองทัพพม่าที่เชียงใหม่ เมืองลี้ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อนครลำพูน เจ้าผู้ครองนครได้แต่งตั้งผู้ปกครองเมืองลี้ เรียกว่า พญาลี้ พญาลี้คนสุดท้ายคือพญาเขื่อนแก้ว สิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 5
ในขณะที่ชาวเมืองลี้เอง มีตำนานและเอกสารโบราณ หรือ พับสา กล่าวถึงบรรพบุรุษหรือผู้ปกครองของตน กล่าวถึงเรื่องราวของพระนางจามะรี พระราชธิดาของเจ้าเมืองหลวงพระบาง ได้พาผู้คนอพยหลบหนีลี้ภัยข้าศึกและโรคระบาด จากเมืองหลวงพระบาง ลงมายังทางทิศใต้สู่ แว่นแคว้นดินแดนล้านนา โดยได้สร้างเมือง ณ บริเวณวัดพระธาตุดวงเดียว เนื่องด้วยมีสายน้ำ 3 สาย มาบรรจบกัน ได้แก่ แม่ลี้ แม่แต๊ะ และแม่ไป จึงมีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสม จึงตั้งชื่อเมืองว่าเมืองลี้ และในอดีตมีการแบ่งเขตของชุมชนตามลุ่มน้ำ โดยลักษณะทางภูมิประเทศของแอ่งที่ราบ เชียงใหม่ลำพูนมีทิวเขาสูงทอดตัวต่อเนื่องกัน มีหุบเขาขนาดใหญ่หรือเล็กแตกต่างกัน ระหว่างเทือกเขาเหล่านี้ เป็นที่ราบที่ผู้คนตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนต่าง ๆ ซึ่งถูกแยกจากกันโดยอาศัยเขตแดนที่ใช้สันปันน้ำของภูเขาทั้งเล็กและใหญ่ ขอบเขตของภูเขาหรือเนินเขาเตี้ย ๆ แบ่งพื้นที่ใหญ่ออกเป็นส่วนย่อย ๆ เรียกพื้นที่ซึ่งเป็นที่ราบย่อย ๆ เหล่านี้ ว่า “โหล่ง”
เมืองลี้มีผ้าซิ่นตีนจกโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลวดลายและสีสันที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวลำพูนภาคภูมิใจแอบซ่อนอยู่ ผ้าซิ่นนั้นก็คือ “ผ้าจกโหล่งลี้” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ที่แท้จริงของชาวไทยวนในชุมชน “โหล่งลี้” จังหวัดลำพูน เกิดจากการนำวัฒนธรรมการทอผ้าจกแบบเชียงแสนมาประยุกต์ สร้างสรรค์ และสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จะเกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับธรรมชาติ และการทำการเกษตร วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงความเชื่อ ความศรัทธา การสืบสาน วัฒนธรรมประเพณี พิธีกรรม อาทิเช่น เมื่อว่างจากการทำสวนไร่นา ชาวบ้านจะมีการไปวัดทำบุญในงาน เทศกาลต่าง ๆ โดยแม่บ้านจะมีการทอผ้าและตัดเย็บด้วยมือ เพื่อเตรียมเครื่องแต่งกายของคนในครอบครัว ด้วยการผสมผสานภูมิปัญญาด้านการทอผ้าจกที่มีมาแต่เดิม ร่วมกับจินตนาการที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ก่อเกิดการสร้างสรรค์ลวดลายต่าง ๆ ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมา อีกทั้งยังมีการใช้แก่นของ “ต้นมะพูด” เป็นตัวช่วยติดสี
ลักษณะที่สำคัญเป็นเอกลักษณ์
- หางสะเปาของผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน จะมีรูปคล้ายอักษรตัวที (T) อยู่กลางสะเปา ซึ่งหมายถึงเสาหลักของชุมชนของเมือง แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และ ความมั่งคั่ง
- ลักษณะลายผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูนจะเป็นลายเล็ก แบ่งเป็นกลุ่มลายอย่างชัดเจน ลวดลายแน่นเรียบ สวยงาม ต่างจากผ้าตีนจกดอยเต่าที่จะมีลวดลายขนาดใหญ่ หรือผ้าตีนจกแม่แจ่มที่ลวดลายจะสอดคล้องต่อเนื่องกัน ไม่ได้แบ่งกลุ่มลวดลายอย่างชัดเจนเหมือนผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน
- มักจะมีสีเขียวเป็นสีประกอบในลวดลายผ้า
- ลวดลายของผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1) ลวดลายมาตรฐาน เช่น ลายขอเบ็ด ลายโคมล้อมนกคู่ ลายขอผักกูด ลายหงส์เญิงนกคู่ ลายโคมสาย ลายเกล็ดเต่า ลายง้อนไถ (คันไถ) ลายโคมล้อมหงส์คู่ ลายโคมลม (โคมลอย) ลายกุหลาบเครือ ลายช่อดอกไม้ ลายโคมเพชรเล็ก ลายโคมเพชรใหญ่ และลายกูดขอเบ็ด เป็นต้น
2) ลวดลายประกอบ เช่น ลายก่ำเบ้อหละกัง (ผีเสื้อใหญ่) ลายนกคู่ขอเบ็ด ลายเครือเขาคำ (เถาวัลย์) ลายเขี้ยวหมาเล็ก ลายห่านคู่ ลายเต่า ลายนกเล่นน้ำ ลายเขี้ยวหมาใหญ่ ลายแก้วก๊อ (ทับทิม) ลายนกเก๊า (นกเค้าแมว) ลายดอกผักแว่น ลายนกคู่สลับต้นน้ำ (คนโฑ) ลายนกคู่สลับขาแมงก่ำปุ๊ง (แมงมุม) ลายนกในกรงหมุน และลายเป็ดน้ำ เป็นต้น
ถ้าเราดูลวดลายของซิ่นตีนจก จะเห็นความละเอียดของลวดลายในแต่ละเส้นแต่ละสีที่สลับกันอย่างมีชั้นเชิง ในผ้าซิ่นตีนจกแต่ละผืนของช่างแต่ละคนในชุมชนต่าง ๆ ยิ่งถ้าได้มองดูภาพอย่างตั้งใจ จะยิ่งเห็นความลุ่มลึกของความคิดในการออกแบบ ทั้งในเชิงเทคนิคและวิธีคิดของช่างที่คิดค้นลวดลายซิ่นตีนจกในยุคนั้น ที่สามารถสร้างลวดลายจากด้านหลัง ที่มีความ ซับซ้อน และ ซ่อนเงื่อน ได้อย่างเรียบเนียนและสวยงามทั้งด้านหน้าและด้านหลังที่ลวดลายปรากฎอยู่ ลวดลายผ้าซิ่นตีนจกที่พบเห็นอยู่ในแหล่งต่าง ๆ ทุกวันนี้ มีหลงเหลืออยู่ในชุมชนเพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย เกิดขึ้นและมีพัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งลวดลาย วัสดุและสีสัน
นอกจากนี้ยังพบผ้าหลบและหมอนหน้าจกแบบไทยวนทั่วไปในพื้นที่โหล่งลี้ โดยเรียกลายจกเหล่านี้ว่า “ลายจกโหล่งลี้” ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2530 การทอผ้าตีนจกในพื้นที่ได้ห่างหายไปเพราะการทอผ้าจกมี กระบวนการที่ยากและละเอียดต้องใช้เวลานาน ประกอบกับมีการนำกี่กระตุกเข้ามาแทนที่ ทำให้ผลิตผ้า ได้รวดเร็วขึ้นจึงละเลยภูมิปัญญาโบราณ ต่อมาได้มีการสืบค้นภูมิปัญญาผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน ด้วยเล็งเห็นว่า “ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน” มีความโดดเด่น สวยงาม มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน จึงเป็นที่กล่าวขวัญของผู้ที่นิยมความสวยงามของผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
ขอบคุณข้อมูล / เครดิตบางส่วน กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”