เสื้อครุยมาจากไหน
การสวมใส่เสื้อครุยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณในหลายประเทศ ทั้งในแถบเอเชียและยุโรป สำหรับในประเทศไทยมีหลักฐานว่า พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานฉลองพระองค์ครุยหรือเสื้อครุย เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศหรือเครื่องยศในหมวดภูษณาภรณ์ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง หรือข้าราชการ ที่ทำความดีความชอบในราชการแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ชุดครุยใช้สวมใส่เมื่อเข้าร่วมในงานพระราชพิธีที่สำคัญ เพื่อเป็นการแสดงบรรดาศักดิ์และตำแหน่งของผู้สวมใส่ ซึ่งขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์สูงจะได้รับพระราชทานเสื้อครุยที่ปักงดงามวิจิตรบรรจง
ภาพตัวอย่างเสื้อครุยจำลอง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน์ กรมหมื่นอลงกฏกิจปรีชาฉลองพระองค์ครุย
ขอบคุณภาพจาก นายจอห์น ทอมสัน
ลอมพอก เป็นหมวกสำหรับขุนนาง เรียกว่า พอกหรือพอกเกี้ยว เป็นเครื่องแต่งกายชนิดหนึ่งที่ช่วยกำหนดลำดับชั้นยศของขุนนาง เป็นหมวกมียอดคล้ายชฎา ขอบหมวกมีสมรดสีเหลืองหรือดิ้นทองคาดเพื่อความสวยงาม เหนือสมรดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งมีเกี้ยวเป็นรูปวงกลม ประดับด้วยดอกไม้ไหวทองคำ มีปลายแหลม
ภาพตัวอย่างลอมพอก
ภาพตัวอย่างลอมพอก
ภาพตัวอย่างลอมพอก
ลอมพอกในสายตาของชาวต่างชาติอย่าง ลา ลูแบร์ ภาพวาดขุนนางชาวสยาม
ในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่า เริ่มแรกลอมพอกใช้สวมครอบมวยผม จึงมีรูปร่างสูงแต่ปลายทู่หรือปลายอวบกว่าในสมัยต่อมา อ้างอิงจากรูปจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่าง ๆ ที่ยังคงปรากฎหลักฐานอยู่ อาทิ ภาพขบวนพายุหมาตราทางสถลมารคที่วัดยม และ วัดไชยทิศ อันเนื่องจากในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง ผู้คนนิยมไว้ผมยาวทั้งชาย และหญิง โดยนิยมมุ่นผมเป็นมวยเหนือศรีษะ ที่เรียก โซงขโดงฤๅโองขโดง หรือ ทรงหนูนยิก ต่อมาเมื่อถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือ ทรงผมได้เปลี่ยนแปลงเป็นทรงหลักแจว หรือ ทรงมหาดไทย ซึ่งเป็นผมสั้น ลอมพอก จึงได้วิวัฒนาการเปลี่ยนรูปแบบไป คือ ยอดเรียวเล็กลง และเพิ่มสายรัดคางขึ้น
บรรดาศักดิ์ของขุนนางสามารถแบ่งได้จากลักษณะของขอบลอมพอก ดังนี้
- ออกญา ชนชั้นปกครองสูงสุด ขอบของลอมพอกทำด้วยทองคำ และยอดแหลมประดับด้วยช่อมาลา
- ออกพระ ขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นสอง ขอบของลอมพอกประดับด้วยช่อชัยพฤกษ์
- ออกหลวง ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสาม ขอบของลอมพอกกว้างเพียงสองนิ้วและฝีมือประณีตน้อยกว่าของออกพระ
- ออกขุน และ ออกหมื่น ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสี่และห้าตามลำดับ ขอบลอมพอกทำด้วยทองคำหรือเนื้อเงินเกลี้ยง
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตแห่งสยาม
ผลงานของ โยฮันน์ ไฮเซลมาน (Johann Hainzelman)
ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต
ผลงานของ โยฮันน์ ไฮเซลมาน (Johann Hainzelman)
ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูตในคณะทูตของออกพระวิสุทสุนธร
ผลงานของ โยฮันน์ ไฮเซลมาน (Johann Hainzelman)
ปัจจุบันยังมีการสวมชุดครุยอยู่ แต่อาจมีกฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผนในการพระราชทานที่แตกต่างกันตามยุคสมัย ส่วนลอมพอกก็จะมีให้เห็นเฉพาะในพระราชพิธีสำคัญโดยธรรมเนียมแห่งพระราชอิสริยยศเท่านั้น อาทิเช่น พระราชพิธีแรกนาขวัญ เป็นต้น อีกทั้งชุดครุยเองยังได้รับความนิยมแพร่หลายในกลุ่มประชาชนโดยทั่วไป จะพบเห็นได้ในงานอุปสมบทชุดบวชนาค
เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์คลี่ สุทัศน์ ณ อยุธยา)
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือผ้าลายในสยาม – ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง
หนังสือผ้าและการแต่งกายในสมัยโบราณจากจิตรกรรมฝาผนังบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ – นางณัฎฐภัทร จันทวิช
หนังสือการแต่งกายไทย วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”