การทำเครื่องเบญจรงค์ถือได้ว่า เป็นงานด้านศิลปหัตถกรรมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เครื่องถ้วยเบญจรงค์ของไทยในอดีตใช้การสั่งทำที่ประเทศจีนจีน แต่ลวดลายสีสันเป็นไทย ฝีมือเขียนของช่างไทย ฉะนั้นลักษณะของเครื่องถ้วยเบญจรงค์จึงมีความงามอย่างไทยยิ่งกว่าเครื่องถ้วยประเภทอื่น ๆ แม้แต่สังคโลกซึ่งเป็นของไทยเอง ก็ยังไม่แสดงเอกลักษณ์ไทยเท่ากับเครื่องถ้วยเบญจรงค์ จัดเป็นเครื่องถ้วยฝีมือชั้นสูง เป็นของราชสำนักในวังเจ้านาย และบ้านขุนนางชั้นสูง ไม่ใช่สำหรับจัดจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป
ต้นกำเนิดของเครื่องเบญจรงค์ใช้สีวาดระบายเพียง 3 สี ต่อมาได้พัฒนาเป็น 5 สี คือ สีขาว สีเหลือง สีดำ สีแดง และสีเขียว ( คราม ) จึงเรียกว่า “ เบญจรงค์ ” ซึ่งหมายถึง เครื่องเคลือบที่มีการวาดสีลงไป 5 สี ปัจจุบันมีการใช้สีมากกว่า 30 สี เครื่องเบญจรงค์มีการออกแบบลวดลายต่าง ๆ ด้วยการวาดสี 5 สี ลวดลายที่เป็นที่รู้จักได้แก่ ลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพพนม ลายนรสิงห์ รวมถึงลายดอกไม้ ลายสัตว์ และลวดลายจากเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น ลวดลายที่วาดลงในเครื่องเบญจรงค์ จะสะท้อนถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมตามความเชื่อของไทย และวิถีชีวิตของคนไทย
เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ผลิตเป็นภาชนะเครื่องใช้หลายประเภท ได้แก่ ชาม จาน โถ จานเชิง ชามเชิง ช้อน กระโถน กาน้ำ ชุดถ้วยชา รูปทรงเครื่องถ้วยมีทั้งทรวดทรงแบบจีนและไทย ชามฝาเป็นแบบที่สั่งสำหรับไทยใช้เป็นชุดสำรับอาหาร ส่วนที่เป็นโถนั้นมีมากมายหลายแบบหลายทรง เช่นโถรูปแตง โถทรงโกศ โถทรงมะเฟือง และโถปริก
เครื่องถ้วยเบญจรงค์สมัยอยุธยา มีลวดลายได้แก่ เทพพนม-นรสิงห์ มีลายนกเป็นเปลวประกอบ เป็นชามที่มีฝีมือประณีต ภายในชามเคลือบเขียว เข้าใจว่าจะเป็นของใช้ในราชสำนัก
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีวิวัฒนาการสืบต่อลวดลายมาจากสมัยอยุธยา และลวดลายที่น่าสนใจ เช่น ลายราขสีห์ ครุฑ สิงห์ นรสิงห์ กินรี หนุมาน ประกอบลายนกเปลว และก้านขด
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เครื่องเบญจรงค์ได้มีการผลิตในประเทศญี่ปุ่นและส่งมาขายในประเทศไทย แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายเพราะไม่ได้รับความนิยม จึงมีจำหน่ายในช่วงเวลาสั้น และนักสะสมเครื่องเบญจรงค์ในเวลานั้นเรียกว่า “เครื่องถ้วยเบญจรงค์ญี่ปุ่น”
ในสมัยก่อนมีการสั่งทำเครื่องเบญจรงค์สำหรับใช้ในราชสำนัก วังเจ้านาย และบ้านขุนนางชั้นสูง แต่ในปัจจุบันเครื่องเบญจรงค์ของไทย ก็เป็นที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งยุโรป และเอเซีย สร้างชื่อเสียงและทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมากมาย ไม่ว่าจะซื้อไปใช้สำหรับ ตกแต่งบ้านเรือน หรือ นำไปใช้เพื่อเป็น ของขวัญ ของชำร่วย ของที่ระลึก
“โถปริก” นั้นใช้สำหรับใส่เครื่องประทินความงามในสมัยก่อน อาทิ ขมิ้น แป้งร่ำ และสีผึ้ง นิยมใช้เป็นชุด โดยชุดหนึ่งอาจเป็นเลขคู่หรือเลขคี่ก็ได้ ที่พบมากคือ 2 – 6 ใบ เหตุที่เรียกว่า “โถปริก” เนื่องจากมีการทำทองสวมติดลงบนฝาโถหรือผอบ โดยเรียกยอดทองนี้ว่า “ปริก” นั่นเอง
กาน้ำชา หรือเรียกว่าปั้นน้ำชา เป็นภาชนะชนิดหนึ่งใช้สำหรับชงชา ทำขึ้นเพื่อใช้ชงชา ลักษณะเป็นปั้นน้ำชาทำด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบน้ำยา ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยมีใช้ ส่วนใหญ่จะมีที่บ้านคหบดีใช้สำหรับชงชา ถือว่าเป็นกาน้ำชาคุณภาพดี
สรุปได้ว่าเครื่องถ้วยเบญจรงค์ จัดเป็นเครื่องถ้วยชั้นสูงที่มีคุณค่าทางประณีตศิลป์ และมีลวดลายสีสันแสดงเอกลักษณ์ของไทย ผู้ที่มีเครื่องถ้วยเบญจรงค์จะเก็บรักษากันอย่างดีด้วยความรู้สึกชื่นชมว่าเป็นของงามประณีตที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงยังมีเก็บรักษาอยู่ทั่วไป ในสถานสะสมเอกชน บ้านเอกชน วัด ในราชสำนัก พิพิธภัณฑสถานเอกชน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รวมไปถึงทางThai Style Studio ของเราด้วย
แหล่งที่มาของข้อมูล หนังสือเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง – ดอว์น เอฟ. รูนีย์
https://cityofbenjarong.com
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”