การห่มผ้าสะพักปรากฏหลักฐานการนุ่งมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา โดยปรากฎหลักฐานการนุ่งบัญญัติไว้ในธรรมเนียมการแต่งกายของราชสำนัก เช่น “พระมเหสีทรงนุ่งยกห่มผ้าตาดทอง” “ฉลองพระองค์ทรงสะพักปักปีกแมลงทับ” อีกทั้งการห่มผ้าสะพักยังเป็นเครื่องบ่งบอกฐานานุศักดิ์ของผู้นุ่งผ้า และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับการนุ่งห่มผ้า ในระดับพิธีการของเขตพระราชฐานสำหรับเจ้านายฝ่ายใน และสตรีชั้นสูงในราชสำนักอยุธยาอีกด้วย ทั้งนี้การนุ่งห่มผ้าสะพักเองยังส่งอิทธิพลผลต่อพัฒนาการนุ่งห่มสไบแบบสองชั้นในเวลาต่อมา เพื่อความเรียบร้อย และเพื่อเป็นการปกปิดเรือนร่างของสตรีชาวสยามให้มิดชิดและเหมาะสมในโอกาสต่าง ๆ
วิธีการนุ่งห่มผ้าสะพัก
- 1. หลังจากผู้นุ่งสวมใส่กระโจมอกและห่มสไบชั้นแรกแล้ว
- 2. ให้นำริมผ้าของผ้าสะพักด้านใดด้านหนึ่ง วางทำมุมเฉียงบริเวณใต้ราวนมด้านซ้ายหรือขวาตามที่ผู้นุ่งถนัด โดยจะต้องเป็นด้านเดียวกับทิศสไบในชั้นแรก และใช้เข็มหมุดกลัดมุมผ้าสะพักให้ติดกับกระโจมอกเช่นเดิม
- 3. หลังจากนั้นพาดผ้าสะพักไปที่บ่าแล้วพันอ้อมหลังผู้นุ่งลงไปทับฝั่งมุมสะพักที่กลัดเอาไว้ แล้วพาดอ้อมด้านหน้าผู้นุ่งเฉียงไปที่บ่าอีกหนึ่งครั้ง
- 4. ใช้ฝ่ามือลูบขอบด้านบนผ้าสะพักจากด้านหน้าให้แนบลำตัวผู้นุ่ง เมื่อทำการลูบผ้าสะพักมาจนถึงบริเวณใต้วงแขน ให้ทำการพับมุมผ้าของผ้าสะพักเข้าด้านในลำตัวประมาณ 2 นิ้ว บริเวณใต้วงแขนให้เกิดแนวผ้าโค้งพับทำมุมสวยงาม
- 5. หลังจากทำขั้นตอนก่อนหน้าแล้ว ใช้ฝ่ามือลูบขอบด้านบนผ้าสะพักให้แนบลำตัวของผู้นุ่งเช่นเดียวกับด้านหน้า โดยเริ่มลูบไล่เก็บความเรียบร้อยตั้งแต่จุดที่พับมุมผ้าบริเวณใต้วงแขน
- 6. เมื่อใช้มือปาดลูบผ้ามาจนถึงจุดที่ผ้าสะพักพาดผ่านไหล่ จะเกิดผ้าส่วนเกินจากการไล่เก็บผ้า ให้ทำการพับส่วนที่เกินบริเวณบ่าที่พาดผ้าสะพักลงซ่อนไว้ด้านใต้ผ้าสะพักบริเวณนั้น และใช้หมุดกลัดผ้าสะพักติดกับขอบบนของกระโจมอก
- 7. นำด้ายมาเย็บไขว้ตรงจุดที่เรากลัดเข็มหมุดไว้ทุกจุดให้แน่นและดึงหมุดออก
- อ่านเพิ่มเติม >> การห่มสไบจีบชั้นเดียว
- อ่านเพิ่มเติม >> การนุ่งจีบไว้ชายพก
- อ่านเพิ่มเติม >> การนุ่งโจงกระเบน
TRULY THAI AUTHENTIC YOU CAN BE
>>ติดตามเรื่องราวความเป็นไทยอย่างใกล้ชิดที่ Thai Style Studio<<
เพราะเราเชื่อว่า “มากกว่าความรู้สึก คือ การได้สัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทยด้วยตัวคุณเอง”